การเขียนรายงานทางวิชาการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนู บุญญานุวัตร*
การเขียนรายงานทางวิชาการ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน
ในระดับอุดมศึกษา
ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง สามารถแสวงหาความรู้ ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้
นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน
ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน
ลักษณะของรายงานที่ดี
รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. รูปเล่ม ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วน การพิมพ์ประณีตสวยงาม การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกัน ใช้ตัวอักษรรูปแบบ (Font) เดียวกันทั้งเล่ม จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์
และอ่านง่าย
2. เนื้อหา
เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบันทันสมัย ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์
แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว
ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์
นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทรรศนะใหม่ ๆ
หรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่
ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวน แสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ
3. สำนวนภาษา เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป สละสลวย
ชัดเจน มีการเว้นวรรคตอน
สะกดการันต์ถูกต้อง
ลำดับความได้ต่อเนื่อง
และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4. การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน
เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล
เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้
ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น
ข้อควรคำนึงในการทำรายงาน
วัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนที่กำหนดให้นักศึกษาทำรายงาน
ก็เพื่อให้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามความรู้ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ
ช่วยให้จดจำเรื่องราวที่ตนศึกษาได้อย่างแม่นยำและยาวนาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว
อาจารย์ผู้สอนจึงมักจะพิจารณาประเมินคุณค่าของรายงานดังนี้
1. ต้องไม่ใช่ผลงานที่คัดลอกของผู้อื่น
(สำคัญมาก)
2. ต้องเป็นผลงานที่แสดงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน (คือมีเนื้อหาสาระที่สามารถตอบคำถาม ใคร
ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ได้) และมีเนื้อหาสาระที่แสดงเหตุผล
แสดงความคิดหรือทรรศนะของผู้เขียน
ที่เป็นผลจากการได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้น (คือมีเนื้อหาที่ตอบคำถาม ทำไม- เพราะเหตุใด ทำอย่างไร)
3. ต้องเป็นผลงานที่จัดรูปเล่มอย่างประณีต อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย
รายงานที่ดีจึงต้องจัดรูปเล่มให้อ่านง่าย
เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ
กำหนดหัวข้อเรื่องไม่ซ้ำซ้อนวกวน (ต้องวางโครงเรื่องให้ดี)
4. ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ดี
คือมีการอ้างอิงและทำบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามแบบแผน แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน
ขั้นตอนการทำรายงาน
การทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน
ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ
หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว
ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป
เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้ ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว
ๆ ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง
2. สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต
ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้ เช่นห้องสมุดควรใช้ บัตรรายการ
บัตรดัชนีวารสาร และ โอแพค (OPAC) เป็นต้น
การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google, Yahoo เป็นต้น
นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน
จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน
เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่
เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3. กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง
โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม 5W1H ได้ครบถ้วน กล่าวคือ
เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้
เช่น ใครเกี่ยวข้อง (Who) เป็นเรื่องอะไร (What) เกิดขึ้นเมื่อไร (When) ที่ไหน (Where) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด
(Why) เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
หรือมีวิธีทำอย่างไร (How)
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด (Mind map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง
ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา
(Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree
diagram) จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น
การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น ๆ
4. รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด
หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต
เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5. อ่านตีความ
สังเคราะห์ข้อมูล และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น
แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้
ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก
เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด
เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป
หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ (ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก
(กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6. เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน
วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว
(การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ
สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)
ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือ 1)
ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก ปกใน คำนำ สารบัญ
2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย บทนำ
เนื้อเรื่อง และบทสรุป 3)
ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม
และ 4) ภาคผนวก ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1. ปกนอกและปกใน
ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย ชื่อเรื่องของรายงาน ชื่อผู้เขียน
รหัสประจำตัว ชื่อวิชา ชื่อสถานศึกษา และช่วงเวลาที่ทำรายงาน ดังตัวอย่าง
2. คำนำ
กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ความเป็นมา
ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง
ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล
เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ
สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน ดังตัวอย่าง
3. สารบัญ ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี)
และเลขหน้า
ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน ดังตัวอย่าง
4. เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3
ส่วนคือ ส่วนนำเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ
ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ บทบาท
ปัญหา ผลกระทบ วัตถุประสงค์
ขอบเขตเนื้อหา
หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น
ซึ่งประเด็นที่กล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด
แต่อย่างน้อยให้มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งดังที่กล่าว
ตัวอย่างการเขียนบทนำเรื่องแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
ส่วนเนื้อเรื่องเป็นส่วนที่แสดงข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ
ความคิดเห็น หรือผลสรุปที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียน การนำเสนอเนื้อหาจะต้องมีหลักฐานอ้างอิง
มีข้อมูลสถิติ ภาพประกอบ ตาราง แผนที่ แผนภูมิ ตามความจำเป็น
ซึ่งจะทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าเชื่อถือและเข้าใจได้ง่าย (ดูตัวอย่างการอ้างอิงในข้อ 5)
ส่วนสรุป
เป็นส่วนชี้ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการบอกผู้อ่าน ผู้เขียนอาจสรุปเนื้อหาตามลำดับหัวข้อใหญ่แต่ละหัวข้อทั้งหมดจนจบ โดยสรุปหัวข้อละ 1 ย่อหน้า หรือเลือกสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญสั้นๆ
ก็ได้ ที่สำคัญในการสรุปจะต้องไม่นำเสนอประเด็นเนื้อหาใหม่อีก
5. การอ้างอิง
การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์
และเลขหน้า
หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ นาม-
ปี ซึ่งมีวิธีการดังนี้
5.1 ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง
เช่น
6. บรรณานุกรม
หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง
โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์ ชื่อบทความ
ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ และสถานที่พิมพ์ เป็นต้น
การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ
แบบ MLA (Modern Language Association
Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์ และแบบ
APA (American Psychological Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในที่นี้จะแนะนำการเขียนบรรณานุกรมแบบ APA
เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นหลักในการเขียนบรรณานุกรมประกอบการทำรายงานทางวิชาการ
การพิมพ์รายงาน
รูปเล่มรายงานที่สวยงามประณีต
ชวนอ่านและอ่านง่ายนั้น
จะต้องคำนึงถึงการจัดวางหน้า ระยะขอบพิมพ์
การย่อหน้า การใช้ตัวอักษร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติดังนี้
1. พิมพ์รายงานด้วยเครื่องเลเซอร์ ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ให้ใช้ตัวอักษร Angsana UPC
ขนาด 16 ปอยท์ ใช้กระดาษมาตรฐานขนาด A4
ไม่มีกรอบไม่มีเส้น หมึกพิมพ์สีดํา
2. จัดระยะขอบกระดาษให้ขอบกระดาษบนและซ้ายห่าง
1.5 นิ้ว ขอบกระดาษล่างและขวาห่าง 1 นิ้ว
การจัดขอบข้อความด้านขวาไม่จำเป็นต้องจัดตรงทุกบรรทัด
3. การย่อหน้า
ให้ย่อหน้าที่ 1 เว้นระยะจากขอบพิมพ์ 7
ระยะตัวอักษรพิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 8
ย่อหน้าต่อ ๆ ไป ให้เว้นเข้าไปอีกย่อหน้าละ 3 ตัวอักษร
คือย่อหน้าที่ 2
พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 11
และย่อหน้าที่ 3
พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 14 เป็นต้น
4. ชื่อบท
ให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษ (ได้แก่
คํานํา สารบัญ บทที่ 1..
บรรณานุกรม) ชื่อบทใช้อักษร Angsana UPC
ขนาด 18 ปอยท์
เว้นบรรทัดระหว่างชื่อบทกับข้อความที่เป็นเนื้อหา 1 บรรทัด
(คือพิมพ์ชื่อบทแล้วเคาะEnter 2 ครั้ง)
5. หัวข้อใหญ่
ให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านขวา และทำตัวหนา-ดำ
ส่วนหัวข้อรองพิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 1
(ตรงอักษรตัวที่ 8)
หากมีหัวข้อย่อย ๆ ภายใต้หัวข้อรองให้พิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 2, 3…. ตามลำดับ
6. บรรณานุกรมให้จัดพิมพ์เรียงตามลำดับตัวอักษร เรียงบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ
บรรณานุกรมแต่ละรายการให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านซ้าย (ไม่ย่อหน้า) กรณีพิมพ์ไม่จบในบรรทัดเดียว ให้พิมพ์ต่อตรงย่อหน้าที่ 1 หรืออักษรตัวที่ 8
สรุป
รายงานทางวิชาการเป็นผลจากการแสวงหาความรู้ตามขอบข่ายเนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆ ที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมาย
เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
พร้อมไปกับการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรายวิชาเหล่านั้น
การทำรายงานทางวิชาการอย่างเป็นขั้นตอน
โดยเริ่มจาก 1) กำหนดเรื่อง 2) สำรวจแหล่งข้อมูล
เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้นมาเป็นแนวทางในการ
3) กำหนดโครงเรื่อง 4)
การรวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง 5)
การอ่านวิเคราะห์และสังเคราะห์
แล้วจึงลงมือ 6) เขียนรายงาน
จะช่วยลดความยุ่งยากและช่วยให้การทำรายงานสำเร็จได้โดยง่าย
รายงานทางวิชาการที่ดี จะพิจารณากันที่ รูปเล่ม
เนื้อหา การเขียนอธิบายความชัดเจน เข้าใจง่าย
มีการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรม ที่มาของข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ถูกต้องตามแบบแผน
ดังนั้น
การประเมินคุณค่าของรายงานจึงพิจารณาที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ความรู้ของผู้ทำรายงาน
รายงานที่ดีจะต้องแสดงเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง แสดงความคิดหรือทัศนะของผู้เขียนอย่างมีเหตุผล และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ
ต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเอง ซึ่งมิใช่ผลงานที่คัดลอกจากผู้อื่น